วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดสุโขทัย



ตราประจำจังหวัดสุโขทัย

ภาพพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ประทับบนพระแท่นมนังคศิลา ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข และทรงบริหารราชอาณาจักรแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 1822 ถึง พ.ศ. 1842 

จังหวัดสุโขทัย ใช้อักษรย่อว่า "สท"



คำขวัญของจังหวัดสุโขทัย


"มรดกโลกล้ำเลิศ            กำเนิดลายสือไทย 

เล่นไฟลอยกระทง         ดำรงพุทธศาสนา

     งามตาผ้าตีนจก              สังคโลกทองโบราณ 

      สักการแม่ย่า พ่อขุน        รุ่งอรุณแห่งความสุข"




ธงประจำจังหวัดสุโขทัย



ที่มา http://www.sukhothai.go.th/sukhothai/index.php/th/2012-08-16-06-32-01

              เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นสี ๓ สี แถบแดงอยู่เบื้องบน แถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง และแถบเขียวอยู่เบื้องล่าง พื้นธงมุมบนด้านใกล้คันธง มีภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงประทับบนพระแท่นมนังคศิลาและมีคำว่าจังหวัดสุโขทัยอยู่เบื้องล่างใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสามีแถบสีแดง สีเหลืองและสีเขียวห้อยชายมายังเบื้องล่างในลักษณะพองาม การใช้สีแดง สีเหลือง และสีเขียวเป็นพื้นธงมีความหมายดังนี้

สีแดง หมายถึง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทิศเหนือได้เมืองแพร่ เมืองน่าน ทิศตะวันตกถึงเมืองหงสาวดี ทิศตะวันออกแผ่พระราชอาณาเขตออกไปจนถึงแม่น้ำโขง ต่อแดนเวียงจันทน์และเวียงคำ ทิศใต้ได้ตลอดถึงแหลมมาลายู นับว่าดินแดนของประเทศไทยสมัยนั้นแผ่ขยายกว้างขวางยิ่งกว่าสมัยใดทั้งสิ้น

สีเหลือง หมายถึง พระพุทธศาสนา ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรืองและนิมนต์พระสังฆราชจากลังกามาปรับปรุงกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต้องตามพุทธบัญญัติ และเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกทรงผนวช

สีเขียว หมายถึง การเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ประชาชนดำรงชีพด้วยความสบาย ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ใครใคร่ประกอบอาชีพใดก็ตามใจชอบ เจ้าเมืองไม่เก็บจังกอบ จึงอยู่กันด้วยความเป็นสุขสบาย ดังปรากฏตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ดังนี้

"…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่อเอา จกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…" 





ดอกไม้ประจำจังหวัดได้แก่ ดอกบัวหลวง 



ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ตาลโตนต


พันธุ์ไม้มงคลที่ได้รับพระราชทานคือ มะค่าโมง


สภาพภูมิศาสตร์

ขนาดและที่ตั้ง
               จังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานครตามระยะทางหลวงแผ่นดินประมาณ 440 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 6,596.092 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,122,557 ไร่

อาณาเขต
              จังหวัดสุโขทัยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ เขตอำเภอศรีสัชนาลัย ติดต่อกับ อำเภอวังชิ้น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศใต้ เขตอำเภอคีรีมาศ และอำเภอกงไกรลาศ ติดต่อกับ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก เขตอำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง และอำเภอสวรรคโลกติดต่อกับอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตก เขตอำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอทุ่งเสลี่ยม ติดต่อกับ อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง 

ลักษณะภูมิประเทศ 
                  จังหวัดสุโขทัยมี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีภูเขาเป็นพืดยาวมาทางทิศตะวันตก พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบและตอนใต้เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำไหลผ่านจากเหนือลงใต้ โดยผ่านพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และอำเภอ กงไกรลาศ เป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร จังหวัดสุโขทัยมีภูเขาที่สูงที่สุด คือ เขาหลวง ซึ่งยอดเขามีความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ลักษณะภูมิอากาศ

                    สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,208.8๘ มิลลิเมตร บริเวณที่มีฝนตกมากที่สุดจะอยู่ตอนบนของจังหวัด บริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีนคร

ประชากร

                    ประชากรในจังหวัดสุโขทัยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวไทยดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้นานมาแล้ว โดยมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนสำเนียงภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จะมีคนอพยพมาจากท้องถิ่นอื่นบ้างไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมี ชนกลุ่มน้อย เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ม้ง เย้า และลีซอ ซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ ตาก และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันชาวเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านแก่ง และตำบลแม่สิน แม่สำ ในอำเภอศรีสัชนาลัย มีจำนวนประมาณ 428 หลังคาเรือน

ทรัพยากรธรรมชาติ
                   จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วยป่าไม้มีค่า มีพื้นที่ดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก มีแร่ธาตุที่สำคัญ มีแหล่งน้ำธรรมชาติและทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งแหล่งธรรมชาติที่งดงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวสุโขทัย

ทรัพยากรป่าไม้ 

                 จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ จังหวัดสุโขทัยมีเนื้อที่ป่าไม้ 2,367.08 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 35.63ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัด กรมป่าไม้ได้ประกาศกำหนดพื้นที่ป่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 12 แห่ง เนื้อที่ 1,923,499.75 ไร่ อุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 แห่ง เนื้อที่ 346,375 ไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง เนื้อที่ 15,875 ไร่ และวนอุทยาน จำนวน 1 แห่ง เนื้อที่ 11,250 ไร่

ทรัพยากรน้ำ 
                 จังหวัดสุโขทัยมีแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน (น้ำบาดาล) ที่สำคัญดังนี้
                     แม่น้ำยม เกิดจากสันเขาผีปันน้ำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย จากทางเหนือสู่ทางใต้ ผ่านพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ เป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร ไปบรรจบแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
                      แม่น้ำยมเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดสุโขทัย เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัด ราษฎรส่วนใหญ่ได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำยมในการทำการเกษตรและการอุปโภค บริโภค แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่มีความลาดเทสูง โดยเฉพาะช่วงต้นน้ำ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ คือในฤดูฝนจะมีน้ำมากเกินความต้องการ และไหลลงสู่ทางใต้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ราบลุ่ม จนเป็นเหตุให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะมีปริมาณน้อย ลำน้ำจะแห้งขอดเป็นตอน ๆ ราษฎรจึงไม่มีน้ำใช้ในการเกษตรเพียงพอ ปัจจุบันได้มีการสร้างแหล่งเก็บน้ำถาวรเป็นช่วง ๆ
                     ห้วยแม่มอก เกิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดลำปาง ไหลจากทิศตะวันตกไปตะวันออกผ่านอำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง และเข้าสู่อำเภอเมืองสุโขทัย จะถูกกลืนไปกับลักษณะพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร
                     ห้วยแม่ลำพัน เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลจากทางทิศตะวันตกไปตะวันออก ผ่านอำเภอบ้านด่านลานหอย แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่อำเภอเมืองสุโขทัย เป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
                     ห้วยแม่ท่าแพ เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย ไหลลงมาทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่อำเภอสวรรคโลก ไปบรรจบกับห้วยแม่มอกที่อำเภอศรีสำโรง เป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร 

ทรัพยากรแร่ธาตุ
                   แร่ธาตุที่สำคัญที่พบในจังหวัดสุโขทัยมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ หินอ่อน หินปูน พลวง ดินขาว แมงกานิส ฟลูออไรด์ และแร่รัตนชาติ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่มีการขุดพบแต่ยังไม่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ทองแดงและเหล็ก แหล่งแร่ที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัยมีอยู่แถบภูเขาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอำเภอศรีสัชนาลัยและอำเภอทุ่งเสลี่ยม


แหล่งอ้างอิง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น